พาราเซตามอล วิธีกินยาพาราเซตามอล ควรใช้ยาตามคำแนะนำบนกล่องหรือเอกสารกำกับยา ปริมาณยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุและน้ำหนักตัวของผู้ใช้ ชนิดของพาราเซตามอลที่ใช้และฤทธิ์ยา


รับประทาน ยาพาราเซตามอล อย่างไรให้ปลอดภัย

เมื่อมีอาการปวด มีไข้ ยาชนิดแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คือ พาราเซตามอล (Paracetamol) เนื่องจากช่วยบรรเทาอาการปวดที่ไม่รุนแรง อย่างเช่น อาการปวดหัว หรือ ปวดฟัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังช่วยลดไข้จากไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ได้ คนส่วนใหญ่สามารถใช้ยาพาราเซตามอลได้โดยไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายใด ๆ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้ยานี้กันอย่างแพร่หลาย ยาพาราเซตามอลเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะตับอักเสบและตับวายเฉียบพลันจากยา ตามข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา

ประเภทของยาพาราเซตามอลประเภทต่าง ๆ

ยาพาราเซตามอลมีหลายรูปแบบ เช่น

  • ยาเม็ด หรือ แคปซูล
  • ยาน้ำสำหรับเด็ก
  • ยาเม็ดละลายน้ำ
  • ยาสอด
  • สารละลายทางหลอดเลือดดำ

ใครใช้ยาพาราเซตามอลได้บ้าง?

ยาพาราเซตามอลนั้นปลอดภัย หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือเด็กอายุมากกว่า 2 เดือนก็สามารถใช้ได้ อย่างไรก็ตามผู้ที่ปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มการใช้ยา โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้

  • โรคตับ โรคไต
  • ติดแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน
  • น้ำหนักตัวน้อย
  • กำลังใช้ยาชนิดอื่นอยู่

หากเคยมีอาการแพ้ยาพาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาอีกและควรขอให้เภสัชกรหรือแพทย์แนะนำยาชนิดอื่นที่ใช้ทดแทนกันได้

วิธีการกินยาพาราเซตามอล

ควรใช้ยาตามคำแนะนำบนกล่องหรือเอกสารกำกับยา หรือตามคำแนะนำของแพทย์ โดยใช้ยาในปริมาณน้อยที่สุดที่ได้ผลตามต้องการ

ปริมาณยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุและน้ำหนักตัวของผู้ใช้ ชนิดของพาราเซตามอลที่ใช้ และฤทธิ์ยา

  • ผู้ใหญ่ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลจำนวน 1 เม็ด (500 มก.) ได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่สูงสุดไม่ควรเกิน 4 กรัม (หรือเทียบเท่ายาพาราฯ ขนาด 500 มก. จำนวน 8 เม็ด) ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง 
  • เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ต้องรับประทานยาพาราฯ ในปริมาณที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยประเมินจากอายุหรือน้ำหนักตัว ซึ่งสามารถดูคำแนะนำได้ที่กล่อง เอกสารกำกับยา หรือถามเภสัชกรหรือแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสม เด็กเล็กสามารถรับประทานยาน้ำโดยใช้ช้อนตวงหรือหลอดดูดยาวัดปริมาณได้  

หลังรับประทาน ยาพาราเซตามอลจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมง และจะออกฤทธิ์บรรเทาอาการได้อยู่หลายชั่วโมง หากยังมีอาการอยู่ สามารถรับประทานยาต่อได้แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนด และควรระมัดระวังการรับประทานยาชนิดอื่น ๆ ที่อาจมีส่วนผสมของพาราเซตามอล (เช่น ยาลดไข้) ในเวลาเดียวกัน

ในกรณีที่จำเป็นผู้ใหญ่สามารถรับประทานยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) พร้อมกับพาราเซตามอลได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็ก และหากอาการปวดแย่ลงหรือนานกว่า 3 วัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

การรับประทานยาพาราเซตามอล พร้อมกับยาชนิดอื่น ๆ อาหาร หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นปลอดภัยหรือไม่?

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าการรับประทานยาพาราเซตามอลพร้อมกับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจะก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ อย่างไรก็ตามควรรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป ก่อนรับประทานยาพาราเซตามอลพร้อมกับยาชนิดอื่น ๆ ควรอ่านเอกสารกำกับการใช้ยาหรือสอบถามเภสัชกรหรือแพทย์เสียก่อน เพราะการรับประทานยาพาราเซตามอลพร้อมกับยาบางชนิดอาจทำให้ได้ผลที่ไม่พึงประสงค์ ประสิทธิภาพยาลดลง และความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงสูงขึ้น

การรับประทานยาพาราเซตามอลพร้อมยาต่อไปนี้อาจเป็นอันตรายได้ 

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือดวาร์ฟาริน (Warfarin) 
  • ยากันชักคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) 
  • ยาคอเลสไตรามีน (Cholestyramine) บรรเทาผื่นคันตามผิวหนังเนื่องจากโรคตับแข็งจากท่อนํ้าดีปฐมภูมิ 
  • ยารักษามะเร็งอิมาทินิบ (Imatinib) บูซัลแฟน (Busulfan) 
  • ยาต้านเชื้อราคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) 
  • ยาลิกซิเซนอะไทด์ (Lixisenatide) สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 
  • ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน 
  • ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbitalป ยาฟีนีโทอิน (Phenytoin) และยาไพรมิโดน (Primidone) ซึ่งช่วยควบคุมอาการชัก

ผลข้างเคียงของยาพาราเซตามอลมีอะไรบ้าง?

ในบางกรณีที่พบได้น้อยมาก ยาพาราเซตามอลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้

  • มีผื่นหรือมีอาการบวมเนื่องจากอาการแพ้
  • ผิวแดง ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นเร็วจากยาพาราเซตามอลที่ให้ทางหลอดเลือดดำ
  • โรคเลือด เช่น เม็ดเลือดขาวน้อย ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ตับและไตถูกทำลาย ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

หากรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดต้องทำอย่างไร?

การรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ หากพบผู้ที่รับประทานยาเกินขนาด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากทำได้ให้นำยาที่เหลืออยู่ พร้อมกล่องหรือเอกสารกำกับการใช้ยาติดไปด้วย หลังการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด บางรายอาจปวดท้อง อาเจียน รู้สึกไม่สบายตัว อย่างไรก็ตามแม้ว่าบางรายอาจจะไม่มีอาการใด ๆ ดังที่กล่าวมาแต่ยังจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด